เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด แนบ 64 รายชื่อ ออกแถลงการณ์คำถาม-คำตอบ ควรนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่
ภายหลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2568 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2568 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(ข่าว: ‘สมศักดิ์’ ลงนามประกาศสธ.คุม ช่อดอกกัญชา รอบังคับใช้ในราชกิจจาฯ)
ล่าสุดวันที่ 25 มิ.ย. 2568 เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออกแถลงการณ์คำถาม-คำตอบ ควรนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่
คำถาม : นโยบายกัญชาเสรีก่อให้เกิดปัญหาจริงหรือไม่
คำตอบ : ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงว่านโยบายกัญชาเสรีที่ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายเมื่อเทียบกับก่อนปลด ได้แก่ (1) จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชาเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า (2) จำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชา เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า (3) จำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า (4) จำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาในจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า และ (5) ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 5 เท่า (ดูรายละเอียดเพิ่มได้ในข้อมูลประกอบแนบท้าย)
คำถาม : ผู้สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรีมักอ้างว่าทำเพื่อให้สามารถประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วจะไม่สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ได้
คำตอบ : นโยบายกัญชาแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ (1) กัญชาเป็นยาเสพติด ห้ามใช้ประโยชน์จากกัญชา 100% (2) กัญชาเป็นยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ (ทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ได้) และ (3) กัญชาไม่เป็นยาเสพติด ใช้ทางการแพทย์ได้ ใช้เพื่อสันทนาการและทำธุรกิจกัญชาเพื่อสันทนาการได้ การควบคุมมากน้อยเพียงใดขึ้นกับการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบมาควบคุม
ในประเทศไทย กัญชาอยู่ภายใต้การควบคุม 100% ก่อนปี 2562 ตั้งแต่ปี 2562 กัญชาอยู่ภายใต้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ คือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ใช้เพื่อสันทนาการไม่ได้ แต่ตั้งแต่ปี 2565 กัญชาอยู่ภายใต้นโยบายกัญชาเสรี ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถสูบกัญชาเพื่อสันทนาการได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติดใดๆ ดังนั้นหากผู้สนับสนุนกัญชาเสรีที่อ้างว่าไม่ได้ต้องการกัญชาเพื่อสันทนาการอย่างจริงใจ แค่เพียงต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เท่านั้น จะต้องยอมรับนโยบายการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ที่อนุญาตให้ใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเต็มใจ
คำถาม : การแก้ปัญหานโยบายกัญชาเสรีควรดำเนินการด้วยการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือ ดำเนินการด้วยการออกฏหมายกัญชามาควบคุม
คำตอบ : การปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติให้รอให้ประเทศไทยมีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ก่อน จึงจะปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดได้ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศในการควบคุมกัญชา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นยังคงเดินหน้าปลดกัญชาเสรีในเวลานั้น แม้สำนักงาน ป.ป.ส.จะทำหนังสือทักท้วงอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม
นโยบายการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดในทันทีในขณะนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน และประชาชนที่ไม่ใช้กัญชา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วจึงดำเนินการออกแบบกฎหมายกัญชาที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป
คำถาม : การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจะทำให้ผู้ประกอบการเสียหายหรือไม่ ต้องชดเชยหรือไม่
คำตอบ : ข้อโต้แย้งของผู้ดำเนินธุรกิจกัญชาหรือผู้ที่ปลูกกัญชาแล้วว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เหตุผลในการหยุดยั้งนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เนื่องจาก (1) ผู้ที่ดำเนินธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยงและรับผิดชอบการกระทำของตนเองอยู่แล้วทั้งด้านกำไรและขาดทุน (2) หากกำหนดบทเฉพาะกาล เช่นอนุโลม 3-6 เดือน สำหรับกัญชาที่ปลูกไว้แล้ว แต่ไม่ให้ปลูกใหม่ กัญชาที่ปลูกไว้แล้วจะตายไปโดยธรรมชาติเพราะเป็นพืชล้มลุก เป็นการบรรเทาความเสียหายเชิงเศรษฐกิจที่เพียงพอแล้ว และ (3) รัฐบาลต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ผู้ปลูกและผู้ดำเนินธุรกิจกัญชามีจำนวนเพียงหลักพันหรือหลักหมื่น แต่เยาวชนที่สมองถูกทำลายได้ด้วยกัญชา
พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ครูที่ต้องสั่งสอนลูกศิษย์ พระที่ต้องสอนศีลธรรม หมอและพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย มีจำนวนหลายสิบล้านคน อีกทั้งนักการมืองที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลต้องไม่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้น มาบดบังผลกระทบทางสังคมในระยะยาว
สำหรับรายชื่อเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด มีดังนี้